Plasticity Retention Index (PRI) พีอาร์ไอ (ดัชนีความอ่อนตัว)
อัตราส่วนของค่าพลาสติซิตี้หลังจากการให้ความร้อนในตู้อบอากาศร้อนเป็นเวลา 30 นาที ที่อุณหภูมิ 140 องศาเซลเซียส ต่อค่าพลาสติซิตี้ก่อนการให้ความร้อนในตู้อบ ซึ่งค่านี้จะบอกถึงความต้านทานต่อการเกิดออกซิเดชันของยางดิบ
Plasticity Number (ค่าพลาสติซิตี้)
การวัดค่าพลาสติซิตี้ขึ้นกับความสูงของตัวอย่างทดสอบหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างภายใต้สภาวะที่กำหนด เช่น แรงกด เวลา และอุณหภูมิ ค่าพลาสติซิตี้ของยางจะบอกถึงความนิ่มหรือแข็งของยางยางที่มีค่าพลาสติซิตี้สูงคือยางแข็ง ยางที่มีค่าพลาสติซิตี้ต่ำคือยางนิ่ม ซึ่งค่าพลาสติซิตี้ของยางมีความสำคัญต่อการแปรรูปยาง เช่น บ่งถึงพลังงานที่ต้องใช้ในการแปรรูปยาง ยางนิ่มจะใช้พลังงานน้อยและจะรับสารเคมีเข้าไปในยางได้รวดเร็ว เป็นต้น
Plasticity (พลาสติซิตี้ (ความอ่อนตัว)
ความอ่อนต้ัวเป็นสมบัติของยางดิบหรือยางผสมที่ยังไม่ได้วัลคาไนซ์ เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของโมเลกุลยาง ซึ่งแสดงถึงความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของยาง และองศาของการไหลของยางใต้สภาวะอุณหภูมิและแรงอัดที่กำหนด
Green strength (ความแข็งแรงของยางดิบ)
ความแข็งแรงของยางดิบที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการทำให้ยางคงรูป
Mastication (มาสติเคชั่น)
เป็นขั้นตอนการบดให้ยางนิ่ม มักใช้กับยางธรรมชาติเนื่องจากยางธรรมชาติมีน้ำหนักโมเลกุลสูงมาก การบดยางให้นิ่มเป็นการทำให้โมเลกุลฉีกขาด น้ำหนักโมเลกุลของยางลดลง (ใช้แรงเฉือน และออกซิเจนในอากาศ) บางครั้งสามารถจะเพิ่มประสิทธิภาพในการบดยางได้โดยการเติมเปบไทเซอร์ลงไปเล็กน้อยและการใช้อุณหภูมิสูง ผลที่ได้ทำให้ยางนิ่มลงสามารถจะผสมสารเคมีให้เข้ากับยางได้ง่ายขึ้น
Storage hardening (การแข็งขึ้นของยางเนื่องจากการเก็บ)
ปรากฏการณ์ที่ความหนืดของยางดิบหรือยางที่ยังไม่ได้ผ่านการคงรูปเพิ่มขึ้นระหว่างการเก็บ เนื่องจากหมู่อัลดีไฮด์ (aldehyde group) ที่มีอยู่ในยางธรรมชาติเข้าไปทำปฏิกิริยาควบแน่นกัน เกิดเป็นโครงสร้างสามมิติที่มีการเชื่อมโยง (crosslink) ระหว่างโมเลกุลยางมีผลทำให้ยางแข็งขึ้น
Gel rubber (ยางส่วนที่เป็นเจล)
ยางส่วนที่ไม่ละลายในตัวทำละลาย
Sol rubber (ยางส่วนที่ละลาย)
ยางส่วนที่ละลายในตัวทำละลาย
Masterbatch (มาสเตอร์แบทซ์)
ของผสมระหว่างยางและสารเคมีต่างๆ ที่รู้ปริมาณที่แน่นอนผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการเตรียมการผสมขั้นตอนสุดท้ายในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ มาสเตอร์แบทซ์อาจจะใช้เพื่อความสะดวกในการผลิต หรือเพื่อเพิ่มสมบัติของผลิตภัณฑ์ หรือทั้งสองอย่าง เช่น ใช้ในกรณีที่สารเคมีกระจายในยางได้ไม่ดี หรือในกรณีที่มีการใช้สารเคมีนั้นน้อยมาก อาจจะก่อให้เกิดการผิดพลาดได้ง่าย ถ้าสารเคมีฟุ้งกระจายหายไป
Compound (ยางคอมพาวด์)
ยางที่ผสมสารเคมีต่างๆ เช่น สารทำให้ยางคงรูป สารช่วยในกระบวนการผลิต เป็นต้น พร้อมที่จะนำไปข้อรูปเป็นผลิตภัณฑ
Gum rubber (กัมรับเบอร์)
กัมรับเบอร์ คือ ยางผสมสารเคมีที่ไม่ได้ผสมสารตัวเติม (filler)
Injection moulding (เครื่องขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์แบบฉีด)
การขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์แบบฉีดเป็นการขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ที่ทันสมัย ตัวเครื่องฉีดจะประกอบด้วยส่วนที่ทำให้ยางนิ่มแล้วจึงฉีดยางคอมพาวด์เข้าสู่แม่พิมพ์ เครื่องฉีดและแม่พิมพ์แบบนี้ราคาสูงมาก แต่ยางคงรูปที่ได้จะมีขนาดที่ถูกต้องมากกว่าการขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์แบบอื่นๆ จึงเหมาะกับการผลิตชิ้นส่วนที่ซับซ้อน นอกจากนี้การขึ้นรูปด้วยวิธีนี้ยังมีอัตราเร็วในการผลิตสูง และมีอัตราของเสียต่ำกว่าการขึ้นรูปด้วยวิธีอื่นๆ อีกด้วย
Extruder (เครื่องอัดผ่านดาย)
เครื่องอัดผ่านดาย คือ เครื่องมือที่ใช้สำหรับขึ้นรูปยางที่อาศัยการอัดยางผ่านดาย (die) ที่มีรูปร่างต่างๆ ตามลักษณะของผลิตภัณฑ์ ตัวเครื่องประกอบด้วยกระบอกที่ให้ความร้อนได้ และมีสกรูหมุนอยู่ภายใน เมื่อใส่ยางคอมพาวด์เข้าไป สกรูจะทำหน้าที่บดยางและอัดยางให้ไหลออกผ่านดาย ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ยางที่ขึ้นรูปโดยใช้เทคนิคนี้ได้แก่ ท่อยาง ยางหุ้มสายเคเบิ้ล ยางขอบกระจก และยางรัดของ เป็นต้น
Compression moulding (เครื่องขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์แบบอัด)
การขึ้นรูปโดยใช้แม่พิมพ์แบบอัดเป็นวิธีการขึ้นรูปที่ใช้กันมากที่สุดในโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อเปรียบเทียบกับการขึ้นรูปโดยใช้แม่พิมพ์แบบอื่นๆ เพราะเป็นวิธีที่ง่ายและไม่ต้องลงทุนทางด้านเครื่องจักรสูง เพราะแม่พิมพ์และเครื่องอัดมีราคาไม่สูงมากนัก เครื่องอัดที่นิยมใช้ ได้แก่ เครื่องอัดระบบไฮดรอลิค การผลิตเริ่มจากการนำยางคอมพาวด์มาวางในแม่พิมพ์ที่ร้อน ปิดแบบแม่พิมพ์ อัดด้วยความร้อนและความดันภายใต้อุณหภูมิที่กำหนด ยางจะเกิดการวัลคาไนซ์และคงรูปเป็นผลิตภัณฑ์ หลังจากนั้นถอดออกจากแม่พิมพ จะได้ผลิตภัณฑ์ตามต้องการ
Calender (เครื่องรีดแผ่น)
เครื่องอัดรีด คือเครื่องที่ประกอบด้วยชุดของลูกกลิ้งจำนวน 2 ถึง 4 ลูก เรียงตัวกันในแบบต่างๆ โดยทั่วไป ลูกกลิ้งแต่ละลูกจะทำจากเหล็กหล่ออย่างดี ผิวหน้าขัดเรียบ ด้านในลูกกลิ้งจะมีการเจาะรูให้เป็นโพรงเพื่อติดตั้งระบบทำความร้อนและทำความเย็น เช่นเดียวกับลูกกลิ้งที่ใช้ในการผสมยางและระยะห่างระหว่าลูกกลิ้งสามารถปรับให้กว้างหรือแคบได้ตามความต้องการ โดยทั่วไปเครื่องอัดรีดนิยมใช้ในการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ที่เป็นแผ่นเรียบ มีความหนาและความกว้างสม่ำเสมอ หรือเพื่อการฉาบยางบางๆ ลงบนผ้าหรือแผ่นใยลวด (coating) ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ได้แก่ สายพานลำเลียง ยางแผ่นเรียบใช้ในงานปูพื้นต่างๆ เช่น ยางแผ่นปูอ่างน้ำ ยางบุถัง เป็นต้น
Banbury mixer (เครื่องผสมยางแบบบานบูรี)
เครื่องผสมแบบปิดชนิดหนึ่ง ใช้ในการผสมยางกับสารเคมีต่างๆ ให้เข้ากัน
Internal mixer (เครื่องผสมยางระบบปิด)
เครื่องผสมยางระบบปิด เป็นเครื่องผสมยางที่ใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน เครื่องผสมยางระบบปิดมีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ส่วน ได้แก่ ห้องผสม (chamber) ตัวบดผสม (rotor) ทำหน้าที่บดยางและคลุกเคล้ากับสารเคมี แท่งกด (ram) และระบบหล่อเย็น (cooling system) เครื่องผสมระบบปิดให้ประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการผสมมากกว่าการใช้ 2-roll mill สารเคมีไม่ฟุ้งกระจายในระหว่างการผสม ลดการสูญเสียสารเคมีเนื่องจากเป็นระบบปิด และลดการผิดพลาดเนื่องจากการใช้แรงงานคนในการผสม สามารถผสมยางกับสารเคมีได้ในปริมาณสูง เช่น 50-100 กิโลกรัม
Two-Roll Mill (เครื่องผสมยางแบบสองลูกกลิ้ง)
เครื่องผสมยางแบบสองลูกกลิ้ง เป็นเครื่องผสมยางระบบเปิดที่ประกอบด้วยลูกกลิ้ง 2 ลูก หมุนเข้าหากันด้วยความเร็วต่างกัน ทำให้เกิดแรงเฉือนที่จำเป็นต่อการบดผสมยางกับสารเคมียาง ในการผสมยางกับสารเคมียางจะใส่ยางลงช่องระหว่างลูกกลิ้ง ยางจะถูกรีดออกมาเป็นแผ่นรอบลูกกลิ้งด้านหน้า จากนั้นจึงเติมสารเคมียาง โดยผู้ผสมต้องทำการกรีดยางแผ่นและพับไปมาในขณะที่เติมสารเคมีลงไปในยาง ซึ่งยางที่ถูกตัดพับจะถูกใส่กลับไปช่องระหว่างลูกกลิ้ง แรงเฉือนที่เกิดขึ้นจะช่วยให้สารเคมีต่างๆ กระจายตัวเข้ากับเนื้อยางได้ดี เครื่องผสมยางแบบสองลูกกลิ้งใช้ผสมยางในปริมาณไม่มาก เนื่องจากต้องใช้ความชำนาญและกำลังคนในการทำการผสม
Ball Mill (หม้อผสมสารเคมี)
ภาชนะทรงกระบอกปิดหัวท้ายสำหรับใส่สารเพื่อบดผสมหรือลดขนาดอนุภาคภายในทำด้วยพอร์ซเลนหรืออะลูมินา และบรรจุลูกกลมพอร์ซเลน เมื่อหมุนหม้อบดที่มีสารอยู่ ลูกกลมจะกลิ้งกระทบกัน ช่วยลดขนาดของอนุภาคได้ ทำได้ทั้งการบดเปียกและการบดแห้ง
Coagulant (สารจับตัว)
สารที่เติมลงไปในตัวกลางที่มีอนุภาคขนาดเล็กแขวนลอยอยู่ ทำให้อนุภาคเหล่านั้นรวมตัวกันเป็นก้อนใหญ่และตกตะกอน เ่ช่น การเติมกรดซัลฟุริก (H2SO4) กรดฟอร์มิก (HCOOH) หรือ กรดอะซิติก (CH3COOH) ลงในน้ำยาง ทำให้น้ำยางจับตัว
Anticoagulant (สารต้านการจับตัว)
สารต้านการจับตัว คือ สารที่เติมลงในน้ำยางสดเพื่อหน่วงปฏิกิริยาจากแบคทีเรียที่ทำให้อนุภาคยางที่แขวนลอยอยู่ในตัวกลางมารวมตัวกันเป็นก้อนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจะทำให้น้ำยางเสียสภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น