Adhesion การยึดติด

ลักษณะการยึดติดของสองสิ่งที่แตกต่างกัน เกิดจากแรงทางเคมีหรือทางกายภาพหรือทั้งสองอย่าง เช่น ยางคงรูปยึดติดกับโลหะ เป็นต้น

Durometer เครื่องมือวัดความแข็ง

เครื่องมือวัดความแข็งของยางและพลาสติก ความแข็งของยางคือความต้านทานต่อการกดของยางโดยแท่งเหล็ก ลูกบอลหรือหัวเข็มที่ใช้กด เครื่องมือที่นิยมใช้กันมากที่สุดในการหาความแข็งของยาง คือ Durometer ซึ่งมีหลายสเกลให้เลือกใช้งานขึ้นกับช่วงความแข็ง มีตั้งแต่ 00, 0, A, B, C, D แต่สเกล A เหมาะสำหรับการหาค่าความแข็งของยาง การอ่านค่าในแต่ละสเกลจะมีตั้งแต่ 0-100 และเป็นการทดสอบแบบไม่ทำลายชิ้นงานนอกจากนั้นยังมีความสัมพันธ์กับสมบัติอื่น เช่น ความต้านแรงดึง (tensile strength) การกระเด้งกลับ (resilience) (ASTM D-2240 )

Hardness ความแข็ง

ความสามารถของวัสดุในการต้านทานต่อการกด สำหรับยางนิยมทดสอบแบบ Durometer มีหน่วยความแข็งเป็น Shore A ( ASTM D 2240) หรือการทดสอบแบบ IRHD มีหน่วยความแข็งเป็น IRHD (ISO 48)

Tensile tester เครื่องมือทดสอบความต้านแรงดึง

เครื่องมือทดสอบความต้านแรงดึง เป็นเครื่องมือวัดสมบัติความต้านแรงดึงของยางคงรูป ซึ่งสมบัติความต้านแรงดึงเป็นสมบัติเชิงกลพื้นฐานที่โรงงานอุตสากรรมยางส่วนใหญ่นิยมใช้เป็นตัวกำหนดคุณภาพหรือสเปคของผลิตภัณฑ์ วิธีการวัด คือ จะให้แรงดึงกับชิ้นงานตัวอย่างจนกระทั่งชิ้นงานขาด วัดความต้านแรงดึงสูงสุด ณ จุดขาด (tensile strength) และสามารถบอกได้ว่าชิ้นงานเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างโดยยืดไปกี่เปอร์เซ็นต์ (elongation at break) วิธีการวัดและชิ้นงานที่ใช้จะต้องทำตามมาตรฐานที่กำหนด เช่น ISO 37 หรือ ASTM D 412

Elongation การยืดตัว

ความสามารถของยางคอมพาวด์ที่จะยืดออกได้โดยไม่เกิดการแตกหักเสียหาย โดยที่เรามักจะวัดค่า “ultimate elongation – การยืดสูงสุด” หรือ “elongation at break – การยืด ณ จุดขาด” โดยจะแสดงค่าเป็นร้อยละของความยาวเดิม ซึ่งจะเกิดขึ้นทันทีที่มีการขาดของผลิตภัณฑ์ยาง วิธีทำสามารถหาได้จาก ISO 37 หรือ ASTM D-412

Tensile strength ความต้านแรงดึง

ความเค้นดึงสูงสุดที่ชิ้นงานทดสอบรับได้จนชิ้นงานเกิดการขาดในการทดสอบแรงดึง

Tensile stress ความเค้นดึง

แรงต่อหน่วยพื้นที่ที่ทำให้ชิ้นวัสดุหรือบางบริเวณของชิ้นวัสดุมีแนวโน้มที่จะยืดตัวออกตามแนวแรงดึง

Modulus มอดุลัส

อัตราส่วนระหว่างความเค้นต่อความเครียดในช่วงเส้นตรงของกราฟจากการทดสอบแรงดึงหรือแรงอัด รู้จักกันในชื่อของ Young’s modulus

Strain ความเครียด

อัตราส่วนระหว่างขนาดของวัสดุที่เปลี่ยนไปกับขนาดเดิม (เช่น ความยาวที่ยืดหรือหดไปเทียบกับความยาวเดิม)

Stress ความเค้น

แรงที่กระทำต่อหน่วยพื้นที่ในเนื้อของสสารและวัสดุ มีหลายประเภท เช่น แรงดึง แรงกด แรงเฉือน เป็นต้น สามารถคำนวณได้จาก แรงที่ให้หารด้วยขนาดพื้นที่หน้าตัดที่รับแรง

Stress relaxation การคลายความเค้น

การลดลงของความเค้นเมื่อเวลาผ่านไป ณ จุดที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างคงที่ ยางที่มี stress relaxation ต่ำ แสดงถึงความยืดหยุ่น ( elastic ) ที่ค่อนข้างมากของยางนั้น

Creep การคืบ

การเพิ่มขึ้นของการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง (deformation) ของยาง ภายใต้แรงกระทำคงที่ เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป ยางที่มี creep ต่ำ แสดงถึงความยืดหยุ่น ( elastic ) ที่ค่อนข้างมากของยางนั้น

Viscoelasticity สมบัติความหยุ่นหนืด

สมบัติหยุ่นหนืด คือ พฤติกรรมการตอบสนองต่อความเค้นที่กระทำของวัสดุ เช่น พลาสติก ยาง เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจะแสดงสมบัติของแข็งที่ยืดหยุ่น (elastic) และของเหลวหนืด (viscous) โดยที่สมบัติทางด้านการเปลี่ยนแปลงรูปร่างดังกล่าวนี้ขึ้นอยู่กับเวลา อุณหภูมิ ความเค้น (stress) และอัตราความเครียด (strain rate)

Potassium Hydroxide Number (KOH number) จำนวนโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์

จำนวนโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ หมายถึง จำนวนกรัมของโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ที่สมมูลย์พอดีกับอนุมูลของกรดทั้งหมดที่รวมกับแอมโมเนียในน้ำยาง ที่มีปริมาณของแข็งทั้งหมด 100 กรัม นั่นคือ จำนวนโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์เป็นตัวระบุปริมาณของสบู่แอมโมเนียมที่เกิดขึ้นระหว่างการเปลี่ยนแปลงในน้ำยาง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดจากการกระทำของแบคทีเรียต่อสารที่ไม่ใช่เนื้อยางในขณะก่อนการใส่แอมโมเนียลงในน้ำยาง และเกิดขึ้นจากการไฮโดรไลซิสของโปรตีนในระหว่างการเก็บน้ำยาง ค่า KOH ที่สูงแสดงถึง ความเปลี่ยนแปลงมากและอาจบ่งชี้ว่าน้ำยางข้นมีอายุหลังการผลิตนานอีกด้วย

Volatile Fatty Acid Number (VFA number) จำนวนกรดไขมันระเหย

จำนวนกรดไขมันระเหย หมายถึง ปริมาณของกรดไขมันระเหยที่เกิดขึ้นโดยการไฮโดรไลซิสของคาร์โบไฮเดรตในเซรุ่มของน้ำยาง กรดเหล่านี้ประกอบด้วยกรดอะซิติก กรดฟอร์มิก และกรดพรอพิโอนิก เป็นส่วนใหญ่

หรือ หมายถึง จำนวนกรัมของโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ที่ทำให้กรดไขมันระเหยทั้งหมดในน้ำยางที่มีปริมาณของแข็งทั้งหมด 100 กรัม เป็นกลาง

ค่า VFA No. เป็นค่าที่บ่งชี้ถึงสถานะการเสียสภาพ นั่นคือ ค่า VFA No. สูง แสดงว่าน้ำยางถูกเชื้อจุลินทรีย์เข้าทำลายมาก เกิดกรดไขมันระเหยมาก ทำให้สูญเสียสภาพการเป็นคอลลอยด์ เกิดการบูดเน่าและจับเป็นก้อนได้
Sludge content ปริมาณสลัดจ์หรือปริมาณตม

ปริมาณสลัดจ์หรือปริมาณตม หมายถึง สิ่งเจือปนที่ไม่ใช่ยางซึ่งจะตกตะกอนลงก้นภาชนะเมื่อมีการปั่นหรือกวนน้ำยาง สิ่งเจือปนเหล่านี้ประกอบด้วย ฝุ่นละออง ดิน ทราย เปลือกไม้ และแมกนีเซียมแอมโมเนียมฟอสเฟต ถ้าปริมาณสลัดจ์มีค่าสูง อาจเกิดการสะสมของปริมาณตมอย่างรวดเร็วระหว่างกระบวนการผลิต ทำให้น้ำยางเสียสภาพและไม่สามารถใช้งานต่อไปได้

Manganese content ปริมาณแมงกานีส

ปริมาณแมงกานีส หมายถึง ปริมาณของธาตแมงกานีสทีู่่ในส่วนที่ไม่ใช่ยางในน้ำยาง มีผลต่อความทนทานต่อการเสื่อมสภาพของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากน้ำยาง เนื่องจากแมงกานีสเป็นตัวกระตุ้นปฏิกิริยาออกซิเดชันในโมเลกุลของยาง ทำให้ยางเสื่อมสภาพได้

Copper content ปริมาณทองแดง

ปริมาณทองแดง หมายถึง ปริมาณของธาตุทองแดงที่อยู่ในส่วนที่ไม่ใช่ยางในน้ำยาง มีผลต่อความทนทานต่อการเสื่อมสภาพของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากน้ำยาง เนื่องจากทองแดงเป็นตัวกระตุ้นปฏิกิริยาออกซิเดชันในโมเลกุลของยาง

Coagulum content ปริมาณยางจับเป็นก้อน

ปริมาณยางจับเป็นก้อน หมายถึง ปริมาณของสารที่ตกค้างอยู่บนตัวกรองสเตนเลสที่ทดสอบ สารเหล่านี้ประกอบด้วยเศษยางจับตัวและสารอื่นที่เจือปนมากับน้ำยาง ค่านี้มีความสำคัญต่อกระบวนการผลิตที่เข้มงวด เช่น การผลิตเส้นด้ายยางยืด น้ำยางที่มีค่า coagulum content สูงอาจก่อให้เกิดปัญหาการอุดตันที่ปลายหลอดในระหว่างกระบวนการผลิตได้

Mechanical Stability Time (MST) ความเสถียรเชิงกลของน้ำยาง

ความเสถียรเชิงกลของน้ำยาง หมายถึง ความเสถียรของน้ำยางต่ออิทธิพลทางกล เช่น การกวน การปั๊ม การเคลื่อนย้าย หรือการกระทำทางกลโดยวิธีอื่นๆ สามารถทำได้โดยวัดระยะเวลาที่เริ่มปั่นกวนน้ำยางจนกระทั่งสังเกตเห็นน้ำยางเริ่มจับตัวเป็นเม็ดเล็กๆ ในหน่วยของวินาที ค่า MST สูงจะบ่งขี้ว่า น้ำยางมีความเสถียรต่ออิทธิพลทางกลได้สูง แต่ถ้าค่า MST ต่ำแสดงว่าน้ำยางนั้นจะสูญเสียความเสถียร สามารถจะจับเป็นเม็ดได้ง่าย เมื่อน้ำยางถูกกระทบกับอิทธิพลทางกล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ข่าวทั่วไป

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

ผู้เข้าชมทั้งหมด