ต้นทุนที่ผู้ประกอบการควรรู้ (1)
ในทุกวันนี้การดำเนินธุรกิจหลายๆประเภทมีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบการที่อยู่ในภาวะการแข่งขันสูง ต่างต้องคิดหาทางที่จะนำพาธุรกิจของตนให้เติบโตต่อไปข้างหน้าให้ได้ แม้ว่าคู่แข่งจะมากมาย และสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ค่อยจะเป็นใจนัก
ธุรกิจไหนที่มีกำไรส่วนเกิน (Margin) สูงๆ ก็ดีไป ถือว่าโชคดีที่ได้หยิบจับทำสินค้าที่มีกำไรส่วนเกินสูง
แต่ธุรกิจบางประเภทมีกำไรส่วนเกิน (Margin) ต่ำ ผลิตสินค้าได้เหมือนๆกันทั้งกลุ่ม ไม่มีความแตกต่างของสินค้า คือลูกค้าจะหันไปซื้อกับผู้ผลิตรายไหนก็ได้สินค้าที่เหมือนกัน คุณภาพใกล้เคียงกัน
ผู้ประกอบการธุรกิจกลุ่มนี้ จึงต้องใช้กลยุทธ์ด้านราคาเข้าแข่งขันกัน คือ แข่งกันตัดราคา
ทางเลือกอื่นมีอีกไหม? เคยลองถามผู้ประกอบการในธุรกิจตัวอย่างนี้
เขาตอบว่า – “ก็ของมันเหมือนกัน ถ้าเราขายแพงกว่า ลูกค้าก็หันไปซื้อเจ้าอื่น เราจึงต้องรักษาระดับราคาขายให้เท่ากัน หรือต่ำกว่าเล็กน้อย”
จากการแข่งขันด้านราคา ลองมองย้อนกลับไปดูถึงต้นทุนผลิต และค่าใช้จ่าย หากไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว ยังไงก็ต้องแข่งกันที่ราคา ทุกๆเจ้าผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน วัตถุดิบ เครื่องจักร ตลอดจนแรงงานที่ใช้ ก็เหมือนๆกัน
ผู้ประกอบการต้องดูที่การควบคุมต้นทุน และประสิทธิภาพการผลิต
ผู้ผลิตที่สามารถควบคุมต้นทุน และประสิทธิภาพการผลิตได้ ย่อมได้เปรียบ
คำถามต่อมาที่ผู้ประกอบการควรถามตัวเอง จะรู้ได้อย่างไรว่า การผลิตของเรา สามารถควบคุมต้นทุนการผลิต และมีประสิทธิภาพแล้วหรือยัง
ผู้ผลิตต้องจัดให้มีการบันทึก หรือ ทำบัญชีต้นทุน เพื่อให้สามารถวัดผลการดำเนินงานผลิตได้ ใช้ข้อมูลจากบัญชีต้นทุนเป็นเสมือนเครื่องมือวัดผลการทำงานผลิต ที่ผู้บริหารนำตัวเลขมาวิเคราะห์ หาข้อบกพร่องและแก้ไขตรงจุดนั้น
หากไม่มีการเก็บบันทึกตัวเลขด้านต้นทุนไว้เลย ผู้ประกอบการจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ในราคาขายที่แข่งกันลดอยู่นั้น ได้คุ้มกับต้นทุนผลิตของท่านหรือเปล่า ยิ่งเป็นสินค้าที่ขายได้กำไรส่วนเกิน (Margin) ต่ำนั้น โอกาสขายต่ำกว่าทุนโดยไม่รู้ตัวนั้นอาจเป็นไปได้
ต้องรู้ว่าของที่เรากำลังขายอยู่นั้น ต้นทุนของมันเป็นเท่าไร ถ้าไม่เคยทำต้นทุนเลย อาจจะเป็นไปได้ที่สินค้าบางงวดที่ขายนั้น มีต้นทุนสูงกว่าราคาขาย
ประโยชน์ที่ได้คือ เมื่อท่านรู้ต้นทุน รู้ราคาขายแล้ว ท่านก็จะรู้กำไรขั้นต้นของท่านว่าเป็นเท่าไร
ถ้ากำไรขั้นต้นของท่านเริ่มแรก ก็ติดลบขาดทุนเสียแล้ว ท่านจะได้รีบแก้ไข และวางแผนแก้ปัญหาต่อไป
ถ้าหากคำนวณดูแล้ว ท่านมีกำไรขั้นต้นจากการขาย สามารถไปวางแผนต่อไปได้ว่า จะทำอย่างไรให้กำไรขั้นต้นนี้สูงขึ้นอีก
(ยังมีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอีก แต่จะพูดถึงในตอนต่อๆไป)
ตัวเลขที่กล่าวมานี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับการวางแผน และตัดสินใจทั้งสิ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น