บันทึกเก่าๆ เล่มนึงซึ่งผู้เขียนใช้บันทึกข้อความมานานหลายปี ตกจากชั้นวางหนังสือจากความซุกซนของเจ้าโฮ่งๆ 3 ตัว หน้าของวันที่ 25 พฤษภาคม 2005 ถูกเปิดออก บันทึกหน้านั้น...มีข้อความสีจางๆ บันทึกไว้ว่า 'ถ้าท้อเป็นเพียงถ่าน...ถ้าผ่านจึงเป็นเพชร' (วีระยุทธ เล็กตระกูล) Quality's note ฉบับ 107 ประจำวันจันทร์ที่ 15 กันยายน 2008 จึงไม่ลังเลที่จะนำ วาทะนี้ มาใช้เป็นหัวข้อในงานเขียน ด้วยหวังว่า สิ่งนี้อาจจะช่วยทุเลา หรือมลายความเหนื่อยยากออกไปจากใจของใครสักคนที่กำลังรู้สึกท้อแท้ และสิ้นหวังกับชะตาชีวิต แทนที่จะปล่อย ให้เป็นเพียงบันทึกความทรงจำของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียวกระนั้น...
25 สิงหาคม 2008 เวลา สี่ทุ่มสิบห้า เกิดเหตุไฟไหม้ห้องเครื่องยนต์รถยกตู้คอนเทนเนอร์ หรือ 'เจ้าอ้วน' ที่สำนักงานบ้านนอกแหลมฉบัง โชคดีอยู่บ้างที่ไม่มีใครได้รับอันตรายถึงเลือดตกยางออก แต่ 'เจ้าอ้วน' มูลค่า 16 ล้านนั้น ยับเยินๆ เวลานี้เรื่องราวอยู่ในกระบวนการประกันภัย มาตรว่า จะเคลมค่าเสียหายจากประกันภัยได้เกือบทั้งหมดก็ตาม แต่ เรา ก็จำเป็นจะต้องทำอะไรบางอย่างที่มากกว่าการดำเนินการตามขั้นตอนประกันภัย เนื่องจากเป็นเรื่องส่งผลต่อความเชื่อมั่นของทุกฝ่าย และผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ในฐานะที่ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านโลจิสติกส์ เพียงไม่กี่บริษัท ที่ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานคุณภาพ สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัย ครบทั้ง 3 ระบบ
ทีมผู้บริหารของสำนักงานงานแหลมฉบัง ตั้งสมมุติฐานของการสูญเสียเจ้าอ้วนไว้ 3 ข้อ นั่นคือ เจ้าอ้วน ถูกใช้งานหนักเกินไปหรือไม่? เจ้าอ้วน ได้รับการ preventive maintenance แบบอ้วนๆ เอ๊ยยย แบบที่กำหนดไว้ในคู่มือประจำรถ อย่างครบถ้วนหรือไม่? บุคลากร เช่น หัวหน้างาน และผู้ให้บริการบำรุงรักษา ที่ต้อง Take Care เจ้าอ้วน มีทักษะความสามารถเพียงพอหรือไม่?
สมมุติฐานเหล่านี้ ถูกนำไปใช้เป็นแนวทางในการสืบค้นบันทึกหลักฐานที่เกี่ยวข้อง มีการสัมภาษณ์หัวหน้างานที่รับผิดชอบโดยตรง สัมภาษณ์วิศวกรผู้ชำนาญการ และตรวจสอบบันทึก หลังจากใช้ความพยายามกันอยู่ 2 วัน เค้าลางของเหตุการณ์ไฟไหม้ เจ้าอ้วน ก็เริ่มปรากฎขึ้นเป็นรูปเป็นร่างในตอนค่ำของวันที่ 10 กันยายน 2008 นั่นเอง
การพิสูจน์สมมุติฐานข้อที่หนึ่ง เจ้าอ้วน ถูกใช้งานหนักเกินไปหรือไม่?
1) ข้อมูลจาก black box บอกให้เราทราบว่า เจ้าอ้วน มีเวลาเฉลี่ยในการทำงาน 15 - 17 ชั่วโมง ต่อวัน แต่......เวลารวมที่เอาเจ้าอ้วนติดเครื่องไว้เฉยๆ บวกกับ เวลาที่เจ้าอ้วนเคลื่อนที่โดยไม่มีการยกตู้คอนเทนเนอร์ เท่ากับร้อยละ 65 มากกว่า เวลาที่เคลื่อนที่เจ้าอ้วนไปพร้อมกับตู้คอนเทนเนอร์ บวกกับ เวลาที่เจ้าอ้วนยกตู้ หรือยืดหด Boom ที่มีเพียงร้อยละ 35 จากเวลาทำงานทั้งหมด
2) น้ำหนักของตู้คอนเทนเนอร์ อยู่ระหว่าง 2.2 - 30 ตัน ซึ่งไม่เกินความสามารถของ เจ้าอ้วน เบอร์ 2 ซึ่งยกได้สูงสุด 45 ตัน
จึงสรุปได้ว่า เจ้าอ้วน ถูกใช้งานในระดับ ปกติ อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่เวลาที่มีการจอดติดเครื่องค่อนข้างสูง เกิดขึ้นจาก อากาศในลานคอนเทนเนอร์ที่โคตรร้อน พนักงานจึงติดเครื่อง เปิดแอร์ และอาศัยอยู่ในรถตลอดเวลาระหว่างรอปฏิบัติงาน และเพื่อให้เจ้าอ้วนได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และประหยัดน้ำมัน จึงจะปรับปรุงสถานที่พักผ่อน และกำกับดูแลให้พนักงานพักในสถานที่ที่จัดไว้ แทนการขึ้นไปขี่เจ้าอ้วนตลอดเวลาทำงาน
การพิสูจน์สมมุติฐานข้อที่สอง เจ้าอ้วน ได้รับการ preventive maintenance ตามที่กำหนดไว้ในคู่มือประจำรถ อย่างครบถ้วนหรือไม่?
'คู่มือสุขภาพของเจ้าอ้วน' บอกท้องลาย เอ๊ยยย ไกด์ลายน์ ในการ ตรวจสุขภาพ เจ้าอ้วน ตามชั่วโมงการทำงาน เช่น ที่ 500 hrs = 2 รายการ ที่ 1000 hrs = 13 รายการ ที่ 1500 hrs = 2 รายการ ที่ 2000 hrs = 19 รายการ ที่ 2500 hrs = 2 รายการ ที่ 3000 hrs = 25 รายการ แต่จากการสัมภาษณ์ผู้ที่รับผิดชอบ และตรวจสอบบันทึกการ preventive maintenance ย้อนหลังไป 1 ปี ค่อนข้าง 'ซัดฝาย' เอ๊ยยย เซอร์ไพรส์เพราะการ Take Care 'เจ้าอ้วน' ไม่เป็นไปตามคู่มือโดยสิ้นเชิงเลยล่ะโยม
จึงสรุปได้ว่า เจ้าอ้วน ไม่ได้รับการดูแลสุขภาพตามที่หมอ (วิศวกร) สั่ง แนวทางในการแก้ไข จัดให้มี software สำหรับบันทึกข้อมูลที่จำเป็น เช่น แผนการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน บันทึกข้อมูลชั่วโมงการทำงาน บันทึกประวัติการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน/บันทึกประวัติการซ่อมบำรุง ฯลฯ โดยระบบจะ 'ส่งเมล์ อัตโนมัติ alert' ให้กับ หัวหน้างาน และผู้จัดการทราบ ก่อนที่จะถึงกำหนดที่จะต้องนำ เจ้าอ้วน เข้ารับการบำรุงรักษา
การพิสูจน์สมมุติฐานข้อที่สาม หัวหน้างาน และผู้ให้บริการบำรุงรักษา มีความรู้ และทักษะเพียงพอที่จะดูแล ให้ความคุ้มครองเจ้าอ้วน หรือไม่?
เจ้าอ้วน นั้น เป็นเครื่องกลที่มีเทคโนโลยีสูงกว่า รถยนต์ทั่วไป แต่ ผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี บริหารธุรกิจ มีประสบการณ์ 12 ปีในงานคลังสินค้า/ขนส่ง/เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการบำรุงรักษาตามที่กำหนดไว้ในคู่มือประจำรถ ในขณะที่ ช่างเทคนิคของ supplier ที่ให้บริการซ่อม ในรอบ 1 ปี สำเร็จการศึกษาระดับ มัธยมศึกษา (ม.3) 3 คน และประถมศึกษา (ป.ุ6) ถึง 6 คน
จึงสรุปได้ว่า หัวหน้างาน รวมทั้ง ผู้ให้บริการซ่อมบำรุงขาด ความรู้ และทักษะในการ Take Care เจ้าอ้วน จึงมีการ อนุมัติอัตราการจ้างงานในตำแหน่ง Preventive Maintenance Specialist สำหรับกำกับดูแลระบบการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน รถยกตู้คอนเทนเนอร์ / รถบรรทุก/รถฟอร์ค-ลิฟท์/เครน ระบบไฟฟ้า และสาธารณูปโภค และ ทบทวนเกณฑ์ที่ใช้ในการสรรหาคัดเลือก ผู้ให้บริการบำรุงรักษารถยกตู้ฯ โดย กำหนดเกณฑ์ด้านคุณสมบัติเกี่ยวกับ วุฒิการศึกษา และประสบการณ์ ของช่างซ่อมบำรุง และ กำหนดเกณฑ์เกี่ยวกับstock spare และ ความรวดเร็วในการให้บริการ
((((((พี่น้องครับ))))))
แม้ เพชร กับ ถ่าน จะเป็นธาตุคาร์บอนเหมือนกัน....แต่กว่าจะมาเป็น เพชร ธาตุคาร์บอน จะต้องถูกบ่มด้วยความร้อนหลายพันองศา และถูกบ่มซ้ำด้วยแรงกดดันมหาศาลหลายล้านปอนด์ต่อตารางนิ้วตลอดคืนวันอันยาวนานนับพันนับหมื่นปี ในขณะที่ถ่าน เป็นเพียงผลจากการนำ ธาตุคาร์บอนอย่างเศษไม้ มาผ่านการอบการเผาภายในเตาอบเพียงไม่กี่วัน คุณค่าของธาตุทั้งสองจึงอยู่ที่ความแตกต่าง หากจะเป็นดั่ง เพชร เราจะต้องเชิดหน้าขึ้น ยิ้มสู้ และรับผิดชอบต่อความผิดพลาด หากยินยอมให้ความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังมีอิทธิพลเหนือจิตใจ จนไม่ได้ลงมือทำอะไรอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อนั้น....เราจะเป็นเพียงถ่าน....พี่น้องล่ะครับ...จะเลือกเป็นแบบไหน...
ท้ายที่สุดนี้....การนำประเด็น ไฟไหม้เจ้าอ้วน มาเขียนเล่าสู่กันฟัง มิได้มีเจตนาอื่นใดนอกจาก ต้องการใช้ความผิดพลาดในกรณีดังกล่าว เป็นสิ่งเตือนใจให้เรา มอง วิกฤตให้เป็นโอกาส และเพื่อไม่ให้ ความผิดพลาดเกิดขึ้น และสลายไปกับสายลม ผู้เขียนจะพยายามค้นหาประเด็นต่างๆ เหล่านี้ มาเล่าสู่กันฟังบ่อยๆ Quality's Note รายสัปดาห์ จะกลับมาพบกับครอบครัวเอ็น วาย เคฯ ทุกเช้าวันจันทร์ ที่ 1,3 และ 4 ของเดือน แต่เวลานี้ต้องลาไปนิทราราตรีสวัสดิ์ครับ!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น